วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2550

อาหารไทยภาคลาง

อาหารท้องถิ่นไทยภาคกลาง ภาคกลางมีพื้นที่ภูมิประเทศอยู่ที่ราบลุ่มมีฤดู ๓ ฤดู มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ การทำมาหากิน ทำอาชีพในการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทุกครัวเรือนทำอาหารรับประทานเอง สำหรับขนมจะได้รับประทานในวันเทศกาลเท่านั้น กอปรกับภาคกลางเป็นที่ตั้งเมืองหลวง ข้าราชบริพารนิยมนำลูกหลานเข้าไปอยู่ในวังหลวง เพื่อฝึกอบรมงานบ้านงานเรือน และเมื่อท่านพวกนี้ออกจากวังก็มาเผยแพร่อาหารแบบต่างๆ พร้อมการจัดอย่างสวยงาม อาจเพื่อเป็นของฝากของกำนัล หรือเพื่อขายความอร่อย ความสวยงามติดปากติดตาประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น อาหารใดที่อร่อยก็จะมีชื่อคำว่าชาววังตามมาข้างหลัง เช่น ข้าวแช่ชาววัง จากเหตุนี้ชาวท้องถิ่นภาคกลางก็จะจำแบบอย่างอาหาร ขนม มาปรับปรุงตามแบบชาววังบ้างจนเป็นแบบอย่างที่ดีมาจนถึงทุกวันนี้
อาหาร คือ สิ่งที่เรารับประทานเข้าไปแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต มีกำลังงาน มีความอบอุ่น สามารถต้านทานโรคได้
ภาคกลาง หมายถึง ภาคที่มีพื้นภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำผ่านหลายสาย มีจังหวัดถึง ๒๒ จังหวัด กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ชัยนาท เพชรบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์
อาหารท้องถิ่นภาคกลาง หมายถึง อาหารที่ชาวภาภกลางชอบรับประทานจนเป็นประเพณี มีรูปลักษณะ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างไปจากอาหารท้องถิ่นภาคอื่นๆของไทย
ความสำคัญ อาหารท้องถิ่นภาคกลาง นอกจากเป็นที่นิยมของชาวไทยภาคกลางแล้ว ชนต่างถิ่นที่มาเยือนรวมถึงชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบเพราะรสฃาติอร่อย ให้คุณค่าอาหารสูงมีธาตุและสารอาหารจากเครื่องปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมุนไพรและเครื่องเทศที่ให้สรรพคุณเป็นยาป้องกันและบำบัดโรค
ลักษณะของอาหารท้องถิ่นไทยภาคกลาง
๑. รสชาติ อาหารท้องถิ่นไทยภาคกลาง โดยทั่วไปมีสามรส เปรี้ยว เค็ม หวาน บางชนิดมีเผ็ด มัน ขม เมื่อปรุงเสร็จจะได้รสกลมกล่อม
๒.รูปร่างลักษณะของอาหารภาคกลาง เป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์ ประชาการจะอยู่อย่างมีความสุข กอปรกับภาคกลางเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง ในวังหลวงมีการประดิษฐ์ประดอย จัดแต่งอาหารและวัสดุที่ประกอบอาหารสวยงาม เมื่อปรุงเสร็จอาหารก็จะน่ารับประทาน
๓. กลิ่นและสี อาหารท้องถิ่นไทยภาคกลาง กลิ่นนั้นจะหอมน่ารับประทาน เช่น แกงเผ็ด แกงส้ม ก็จะหอมกลิ่นพริกเป็นหอมฉุน ถ้าเป็นขนมก็กลิ่นจะหอมหวาน
๔. เครื่องเคียง เครื่องเคียง หมายถึง อาหารที่รับประทานคู่กับอาหารอีกอย่างหนึ่ง เช่น ขนมจียน้ำพริก มีเครื่องเคียงมากมาย ทั้งผักสด ผักทอด ทอดมัน เป็นต้น